ระบบภาษีสินค้าและบริการ GST หรือ Good and Services Tax เป็นระบบภาษีทางอ้อมที่รัฐบาลมาเลเซียได้ประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 โดยจะจัดเก็บทุกครั้งที่มีการชำระเงินเพื่อซื้อขายสินค้าหรือบริการ ในอัตราร้อยละ 6 ของมูลค่าสินค้าหรือบริการนั้นๆ โดยระบบภาษี GST เป็นระบบที่นำมาใช้ทดแทนระบบภาษีการซื้อขายสินค้าและบริการเดิม ซึ่งมีความซับซ้อนในการคำนวณและการจัดเก็บ เนื่องจากมีการเรียกเก็บภาษีจากแหล่งผลิตในหลายอัตรา ซึ่งสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ได้สรุปข้อมูลที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บภาษีระบบ GST
ระบบภาษี GST มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีทางอ้อม (indirect tax) ซึ่งเดิมมีการจัดเก็บจากโรงงานและผู้ให้บริการ ทำให้มีความซับซ้อน โดย GST จะทำให้การจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใสและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ช่วยลดอัตราการขาดดุลงบประมาณของภาครัฐ และทำให้ภาครัฐให้บริการต่างๆแก่ประชาชนได้มากขึ้น คาดว่าระบบ GST จะทำให้รัฐบาลมาเลเซียมีรายได้จากภาษีทางอ้อมมากขึ้น รัฐบาลมาเลเซียจึงมีแผนลดอัตราการเก็บภาษีทางตรง (direct tax) ด้วยการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในปีภาษี 2015 ประมาณ 1-3 จุด
รูปแบบการจัดเก็บภาษี
รัฐบาลมาเลเซียจะจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าและบริการในลักษณะเดียวกันกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value added tax : VAT) ของไทย คือ ผู้ขายทำหน้าที่เสมือนจัดเก็บภาษีจากผู้ซื้อและรวบรวมส่งให้รัฐบาลมาเลเซียในแต่ละปีภาษี และผู้ผลิตสามารถขอรับคืนภาษีที่ชำระไปแล้วมาจัดซื้อสินค้าที่นำมาเป็นวัตถุดิบแปรรูปได้ อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงระบบภาษีหลายอัตรามาเป็นระบบอัตราเดียว อาจทำให้ราคาสินค้าและบริการบางประเภทเพิ่มสูงขึ้นได้ ถึงกระนั้นก็ดี ก็ยังมีสินค้าอุปโภคและบริโภคพื้นฐานบางส่วนจะได้รับการยกเว้น GST เช่น เนื้อสัตว์และอาหารทะเลสดหรือแช่แข็งไข่ไก่ และไข่เป็ดสดหรือดองเค็ม ขนมปังแถวเกลือ น้ำตาล น้ำมันพืชปรุงอาหาร ยาสามัญ น้ำมันดีเซลและเบนซิน 95 ไฟฟ้าและน้ำประปา เป็นต้น
ผลกระทบต่อชาวมาเลเซีย
ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจต่อการริเริ่มระบบ GST โดยเห็นว่า เป็นระบบที่เน้นการจัดเก็บภาษีคนจนเพื่อลดภาษีเงินได้ของคนรวย ขณะที่บางส่วนเห็นว่าเป็นแนวทางของรัฐบาลที่จะเรียกเก็บภาษีจากประชาชนมากขึ้น และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตและผู้ขายฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคชาวมุสลิมบางส่วนเห็นว่าการจัดเก็บ GST ขัดต่อหลักศาสนาเพราะเป็นการรีดไถประชาชน โดยตั้งแต่รัฐบาลมาเลเซียประกาศแนวคิดการใช้ระบบ GST ในช่วงปี 2556 เป็นต้นมา ก็มีการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง โดยการประท้วงครั้งที่ใหญ่ที่สุด คือ การชุมนุมประท้วงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และมีนาคม 2558 ซึ่งมีผู้ประท้วงถูกจับกุมรวมกว่า 70 คน
นอกจากนี้ กลุ่มผู้ผลิตบางส่วนยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับระบบภาษี GST ขณะที่ผู้ขายสินค้าส่วนมากเห็นว่า รัฐบาลขาดการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับรายการสินค้าที่จะจัดเก็บหรือยกเว้น GST ทำให้การคำนวณราคาทำได้ยากลำบาก
คาดการณ์ผลกระทบหลังการใช้ระบบภาษี GST
ในภาพรวมของการเริ่มจัดเก็บ GST เห็นได้ว่า การเพิ่มจำนวนของร้านค้าเป็นไปอย่างราบรื่น แม้ร้านค้ารายย่อยบางแห่งยังประสบปัญหาในการปรับปรุงระบบการคำนวณภาษี ขณะที่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่บางส่วนยังประสบปัญหาในการปรับเปลี่ยนป้ายราคา นอกจากนี้ สินค้าหลายชนิดที่มีการจัดเก็บ GST เช่น น้ำดื่มบรรจุขวด ปลากระป๋อง กระดาษชำระ ผ้าอนามัย มีการปรับราคาสูงขึ้นตามอัตรา GST แต่ยังไม่มีรายงานการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าในวงกว้างแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามกลุ่มนักการเมืองพรรคฝ่ายค้านยังคงใช้การจัดเก็บ GST เป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลมาเลเซีย ว่าเป็นความล้มเหลวของการบริหารและการผลักภาระด้านงบประมาณให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นการซ้ำเติมคะแนนนิยมที่กำลังลดลงของนายกรัฐมนตรีราจิบ ราซัค และเบี่ยงเบนความสนใจของสื่อออกจากความขัดแย้งภายในพรรคฝ่ายค้านเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายอาญาอิสลาม (Hudud)
ผลกระทบต่อคนไทยในมาเลเซีย
คนไทยที่ทำงานหรืออาศัยอยู่ระยะยาว (Permanent resident) ในมาเลเซียจะต้องจ่าย GST เช่นเดียวกับชาวมาเลเซีย โดย นักท่องเที่ยวชาวไทยมีหน้าที่ต้องจ่าย GST สำหรับสินค้าและบริการที่ได้อุปโภคหรือบริโภคในประเทศมาเลเซีย รวมถึงสินค้าประเภทสุราและยาสูบ และสินค้าควบคุมบางประเภท โดยนักท่องเที่ยวและนักศึกษาที่จะเดินทางกลับประเทศไทยโดยเครื่องบิน และประสงค์จะนำสินค้ากลับไปอุปโภคและบริโภคในประเทศทั้งหมด เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องใช้ไฟฟ้า สามารถขอรับคืน GST (หักค่าธรรมเนียม)ได้ โดยดำเนินการผ่านบริษัทนายหน้าที่ได้รับการรับรองจากทางการมาเลเซีย ทั้งนี้ สินค้าต้องซื้อภายใน 3 เดือนก่อนวันเดินทาง โดยมีมูลค่าการซื้อจากร้านเดียวกันในวันเดียวกันรวมไม่น้อยกว่า 300 ริงกิต นอกจากนี้ การเดินทางกลับไทยโดยเครื่องบิน นักท่องเที่ยวและนักศึกษาสามารถสอบถามร้านค้านั้นๆ เกี่ยวกับแนวทางและขั้นตอนการขอรับภาษี (ค่าธรรมเนียม) คืนได้ที่ท่าอากาศยานนานาชาติทั้ง 8 แห่งในมาเลเซียก่อนเดินทางกลับประเทศไทย