วันที่ 7 - 12 กรกฎาคม 2568 นางสาวลดา ภู่มาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ให้การต้อนรับนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนมาเลเซียเพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (58th ASEAN Foreign Ministers’ Meeting and Related Meetings) ณ ศูนย์ประชุมกัวลาลัมเปอร์ (Kuala Lumpur Convention Centre: KLCC) โดยรัฐมนตรีว่าการฯ และภริยา เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์ ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากสถานเอกอัครราชทูตฯ และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย
โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ รับรองรัฐมนตรีว่าการฯ ในการประชุมระดับรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 8 - 11 กรกฎาคม 2568 จำนวน 17 กรอบ โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนจากอีก 30 ประเทศ/ องค์กร เข้าร่วมการประชุมประจำปีที่สำคัญครั้งนี้ อาทิ การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 58 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 26 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 15 การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 32 การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา 11 ประเทศ และพิธีลงนามภาคยานุวัติสารเข้าเป็นอัครภาคีสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้เข้าร่วมการพบหารือทวิภาคีระหว่างนางเอกสิริ ปิณฑะรุจิ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กับ Dato’ Sri Amran Mohamed Zin ปลัดกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2568
อนึ่ง ช่วงค่ำวันที่ 9 และ 11 กรกฎาคม 2568 เอกอัครราชทูตฯ เป็นเจ้าภาพอาหารค่ำเพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการฯ และคณะ ที่โรงแรมที่พักและทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ ตามลำดับ โดยมีข้าราชการทีมประเทศไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกันในบรรยากาศสร้างสรรค์ อบอุ่น ส่งเสริมความสัมพันธ์และการบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศไทย ทั้งนี้ ช่วงบ่ายของวันที่ 12 กรกฎาคม 2568 เอกอัครราชทูตฯ พร้อมผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ให้การรับรองและอำลารัฐมนตรีว่าการฯ และคณะ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติกรุงกัวลาลัมเปอร์
การเยือนมาเลเซียของรัฐมนตรีว่าการฯ ครั้งนี้ประสบความสำเร็จ ไทยได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และภาคีภายนอก ในประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน อาทิ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ การบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมถึงเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัล และการรับมือกับภัยคุกคามข้ามพรมแดน ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคภายใต้มุมมองของอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) และการธำรงรักษาภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ ฯลฯ เป็นต้น