หนังสือเดินทาง

หนังสือเดินทาง

วันที่นำเข้าข้อมูล 9 ก.ย. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ต.ค. 2567

| 111,041 view

ขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ (e-passport) กรณีหมดอายุ

  1. ผู้ร้องจะต้องเดินทางมายื่นคำร้องขอทำหนังสือเดินทางที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ด้วยตนเองเท่านั้น กรณีบุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (อายุไม่ถึง 20 ปี) ผู้ปกครอง (ทั้งบิดาและมารดา) จะต้องมาลงนามต่อหน้าเจ้าหน้าที่ด้วย โดยในวันนัดหมายไม่สวมคอนแทคเลนส์ เนื่องจากมีขั้นตอนสแกนม่านตา
    - บุคคลที่สามารถขอหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ต้องมีวีซ่าพำนักในมาเลเซีย 1 ปี สำหรับคนไทยที่มาท่องเที่ยวในประเทศมาเลเซียและทำหนังสือเดินทางหาย จะไม่สามารถขอทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ กรุณาติดต่อสถานเอกอัครราชทูตฯ เพื่อทำ เอกสารเดินทางฉุกเฉิน
    - หนังสือเดินทางเล่มใหม่ ใช้เวลาทำการประมาณ 4 - 6 สัปดาห์
    - ค่าธรรมเนียม ณ 15 มีนาคม 2564 (สามารถเรียกดูประกาศค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทางได้ที่เอกสารแนบด้านล่าง)

        หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 5 ปี 160 ริงกิต

        หนังสือเดินทางมีอายุไม่เกิน 10 ปี 240 ริงกิต

    2. สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มและกรอกก่อนมาติดต่อ เพื่อลดระยะเวลา หรือมาขอรับแบบฟอร์มได้

          ดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ ที่นี่

  1. หลักฐานประกอบ

          3.1. สำหรับผู้ที่มีอายุ 20 ปี บริบูรณ์ ขึ้นไป

  • หนังสือเดินทางเล่มเดิม พร้อมสำเนาหน้าข้อมูลส่วนตัว
  • บัตรประจำตัวประชาชน พร้อมสำเนา หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน

          *** กรณีที่เคยมีการเปลี่ยนชื่อ หรือวันเดือนปีเกิด ซึ่งข้อมูลไม่ตรงกับบัตรประชาชนให้นำหลักฐานการแก้ไขที่เกี่ยวข้องมาแสดงด้วย เช่น หลักฐานการเปลี่ยนชื่อ

          3.2 หลักฐานประกอบสำหรับบุคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี   

                    กรณีบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

  • หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน พร้อมสำเนาหน้าข้อมูลส่วนตัว
  • สูติบัตรไทยฉบับจริง จำนวน 1 ชุด
  • บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนา หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
  • หนังสือเดินทางของบิดา - มารดา จำนวน 1 ชุด พร้อมสำเนา
  • บัตรประชาชน หรือ ทะเบียนบ้านของบิดา - มารดา (เฉพาะผู้มีสัญชาติไทย) จำนวน 1 ชุด พร้อมสำเนา
  • หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศ และบัตรประจำตัวประชาชนฉบับจริงของบิดา มารดา ในกรณีที่บิดา/มารดา หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่สามารถมาแสดงตัวได้ ในวันทำ Passport
  • เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น เช่น หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตร หรือรับบุตรบุญธรรม บันทึกการหย่า ซึ่งมีข้อความระบุให้บุตรอยู่ในความดูแลของบิดาหรือมารดา เป็นต้น
  • ส่วนในกรณีต่าง ๆ เช่น กรณี บิดา มารดา ของผู้เยาว์เสียชีวิต, กรณีที่บิดา มารดา ของผู้เยาว์เป็นชาวต่างชาติที่มิได้จดทะเบียนสมรส, กรณีที่ไม่สามารถตามหา ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาให้ความยินยอมได้, กรณีบิดามารดามิได้จดทะเบียนสมรสแต่บุตร อยู่ในความดูแลของบิดาฝ่ายเดียวมาตลอด และไม่สามารถตามหามารดาได้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ให้นำคำสั่งศาลซึ่งระบุชื่อผู้มีอำนาจปกครอง พร้อมบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจปกครองมาแสดงด้วย

            กรณีบุคคลที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์

  • หนังสือเดินทางเล่มปัจจุบัน พร้อมสำเนาหน้าข้อมูลส่วนตัว
  • บัตรประจำตัวประชาชนที่ยังไม่หมดอายุ พร้อมสำเนา หรือ สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาบัตรประชาชน หรือ สำเนาทะเบียนบ้านของบิดา-มารดา (เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทย) จำนวน 1 ชุด
  • สำเนาหน้าหนังสือเดินทางของบิดา - มารดา จำนวน 1 ชุด
  • หนังสือยินยอมให้ผู้เยาว์เดินทางไปต่างประเทศที่ผ่านการรับรองจากอำเภอหรือเขต และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ปกครองพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง
  • เอกสารอื่น ๆ ที่จำเป็น อาทิ หลักฐานใบเปลี่ยนชื่อ เปลี่ยนนามสกุล เอกสารหลักฐานการรับรองบุตรหรือรับบุตรบุญธรรม ใบสำคัญการสมรส ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า บันทึกการหย่าที่ระบุผู้มีอำนาจในการปกครองบุตร ทะเบียนบ้าน คำสั่งศาลกรณีระบุผู้มีอำนาจปกครองแทนบิดามารดา เป็นต้น

    * เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำร้องในการออกหนังสือเดินทางให้แก่บุคคลสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ. 2548 นั้น เมื่อบิดามารดาได้แจ้งเกิดและขอทำหนังสือเดินทางเล่มแรกให้แก่เด็กแล้ว จะต้องดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอที่มีภูมิลำเนาอยู่ เพื่อให้เด็กมีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบข้อมูลหลักฐานการขอหนังสือเดินทางของบุคคลสัญชาติไทย ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจะอนุโลมออกหนังสือเดินทางเฉพาะเล่มแรกเท่านั้นให้แก่เด็กที่เกิดในต่างประเทศและยังไม่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก

    * ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อและรายการบุคคลเข้าในทะเบียนบ้านที่สำนักงานเขตหรืออำเภอนั้น บิดา มารดา ผู้ปกครองโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือผู้ที่บรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีขึ้นไป) ซึ่งประสงค์ขอมีรายการบุคคลและหมายเลขประจำตัวประชาชนในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ อาจมอบอำนาจให้ญาติพี่น้องยื่นคำร้องแทน [ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษาข้อ 96/2 (หน้า 74 ด้านล่างสุด) (เอกสารระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ดังแนบด้านล่าง)

      4. กรณีหนังสือเดินทางสูญหาย

        1. แจ้งความหนังสือเดินทางสูญหายที่สถานีตำรวจใกล้เคียงในมาเลเซีย

        2. นำใบแจ้งความมายื่นประกอบคำขอมีหนังสือเดินทางเล่มใหม่ เพื่อใช้แทนเล่มเดิมที่สูญหาย โดยเตรียมเอกสารตามด้านบน

 

    5. กรณีต้องการเดินทางกลับไทยเร่งด่วน ไม่สามารถรอรับเล่มหนังสือเดินทางเล่มใหม่ได้ พำนักเกินกำหนดอนุญาต/ไม่มีวีซ่า

        1. สถานเอกอัครราชทูตฯ จะออกเอกสารเดินทางฉุกเฉิน (Emergency Travel Document) ให้ใช้เดินทางแทน และสามารถโดยรอรับได้เลย

        2. ผู้ยื่นคำขอต้องนำเอกสารเดินทางฉุกเฉินไปติดต่อ Immigration Department มาเลเซีย เพื่อขอ Special Pass ก่อนใช้เดินทางออกจากมาเลเซีย

        ทั้งนี้ เอกสารเดินทางฉุกเฉินเป็นเอกสารสำหรับการเดินทางกลับไทยเท่านั้น และใช้ได้เพียงครั้งเดียว

 

การขอหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) ข้อมูลที่ปรากฎจะตรงตามข้อมูลในทะเบียนราษฎรของผู้ร้องที่ประเทศไทย ทั้งนี้ นามสกุลในหนังสือเดินทางเล่มใหม่จะตรงกับหลักฐานทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน โดยจะไม่ขึ้นอยู่กับหนังสือเดินทางเล่มเดิม

ถ้าผู้ร้องต้องการให้นามสกุลในหนังสือเดินทางเป็นนามสกุลหลังการสมรส/หย่า จะต้องแก้ไขนามสกุลในทะเบียนราษฎร์ก่อนที่จะเดินทางมาทำหนังสือเดินทาง อิเล็กทรอนิกส์

การทำหนังสือเดินทางเล่มใหม่หรือ E-passport ไม่สามารถดำเนินการทางไปรษณีย์ได้

 

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฏร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑

เอกสารประกอบ

ระเบียบสำนักทะเบียนกลาง
ประกาศ_สอท._ณ_กรุงกัวลาลัมเปอร์_ค่าธรรมเนียมหนังสือเดินทาง_12_มี.ค._2564
ฟอร์มหนังสือเดินทาง_หนังสือยืนยันความถูกต้อง