แก้ปัญหาราคายาง: The Malaysia Model

แก้ปัญหาราคายาง: The Malaysia Model

วันที่นำเข้าข้อมูล 10 ม.ค. 2559

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 15 พ.ย. 2565

| 19,658 view
ปัญหาราคายางเป็นปัญหาใหญ่มากของประเทศไทยในปัจจุบัน ปัญหานี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางหลายล้านคน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างลึกซึ้งต่อภาคใต้ และส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม
 
คำอธิบายของผู้รับผิดชอบก็คือ ปัญหานี้เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ความต้องการ (demand) ของโลกในการใช้ยางลดน้อยลง และสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงอย่างเป็นประวัติการณ์ ซึ่งได้ฉุดให้ราคายางพาราลดต่ำลงไปด้วย
 
คำอธิบายดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง ไม่มีประเด็นใดผิด ปัญหาราคายางเป็นผลมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวจริง
 
แต่ถ้าอธิบายเพียงแค่นี้ เราก็คงมองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาราคายางกันได้อย่างไร เพราะทั้งหมดเป็นปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของประเทศไทย
 
หลายคนก็เสนอว่า ถ้าอย่างนั้น ก็ต้องลดการผลิตยางลง เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างดีมานด์และซัพพลาย อันจะทำให้ราคายางกระเตื้องขึ้น โดยให้ชาวสวนยางบางส่วนยุติการผลิต ตัดต้นยางทิ้ง แล้วหันไปประกอบอาชีพอย่างอื่นแทน
 
แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า (๑) จะให้ชาวสวนยางไปทำอะไร การเริ่มต้นอาชีพใหม่จะทำกันได้ง่าย ๆ เลยหรือ จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะประสบความสำเร็จ “ไม่หนีเสือปะจระเข้” และในช่วงเปลี่ยนผ่านเกษตรกรจะอยู่กินกันอย่างไร (๒) ชาวสวนยางจะลดการผลิตลงเท่าไร ราคายางในตลาดโลกจึงจะขยับขึ้นได้ (อย่างมีนัยสำคัญ) (๓) แล้วถ้าชาวสวนยางไทยลดการผลิตลง แต่ชาวสวนยางประเทศอื่นไม่ได้ลดการผลิตลง ราคายางในตลาดโลกจะขยับขึ้นได้หรือไม่
 
คำถามเหล่านี้ดูจะยังไม่มีใครตอบได้ หรือไม่มีใครกล้า “แอ่นอก” มารับประกันว่าแนวทางนี้จะได้ผลจริง ๆ
 
แล้วเช่นนั้น เรามีหนทางอื่นอีกหรือไม่
 
ในฐานะคนที่เฝ้าดูการดำเนินงานของมาเลเซีย ผู้เขียนเห็นว่า “The Malaysia Model” อาจจะเป็นคำตอบอีกประการที่ประเทศไทยน่าจะได้พิจารณาอย่างจริงจัง
 
มาเลเซียเป็นชาติที่ผลิตยางพารามาก่อนประเทศอื่นใดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ แม้ในปัจจุบันจะมิใช่ชาติที่ผลิตยางมากที่สุดในโลก แต่ก็ยังมีผลผลิตมากเป็นอันดับ ๓ รองจากไทยและอินโดนีเซีย โดยมีผลผลิตน้ำยางสดราวปีละประมาณ ๑ ล้านตัน
 
แต่ท่ามกลางสถานการณ์ที่ราคายางตกต่ำทั่วโลก มาเลเซียกลับเป็นชาติที่ประคับประคองตนเองได้ดี แน่นอนว่าชาวสวนยางมาเลเซียก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานี้ แต่ด้วย”ระบบ” ที่รัฐบาลมาเลเซียได้วางไว้ ทำให้สามารถจัดการปัญหานี้ได้ดีพอสมควร เราแทบจะไม่ได้ยินเสียงร้องโอดโอยของชาวสวนยางมาเลเซีย
 
อะไรคือ “The Malaysia Model” 
 
หัวใจสำคัญของ “The Malaysia Model” ก็คือ การแปรรูปยางพาราให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรม มาเลเซียเป็นชาติที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูป (processing industry) ยางพารา ขณะนี้อุตสาหกรรมแปรรูปยางของมาเลเซียสามารถดูดซับ (absorb) ปริมาณน้ำยางที่ผลิตได้ภายในประเทศจนอาจจะเรียกได้ว่า “๑๐๐ เปอร์เซ็นต์” เพราะน้ำยางที่ผลิตได้ภายในประเทศไม่เพียงพอที่จะป้อนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ ต้องอาศัยการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยและอินโดนีเซียเข้าไปเพิ่มเติม
 
ทั้ง ๆ ที่มีประชากรเพียง ๓๐ ล้านคน ในปัจจุบัน มาเลเซียเป็นชาติที่ “บริโภค” ยางพารามาเป็นอันดับ ๕ ของโลก รองจากจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งล้วนแต่เป็นชาติขนาดใหญ่ทั้งนั้น
 
นอกจากนั้น มาเลเซียยังเป็นผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในโลก (the world largest producer) อยู่หลายรายการ อาทิ ถุงยางอนามัย (condom) ถุงมือยางที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม วงการแพทย์ และที่ใช้ในบ้านเรือน โดยมีส่วนแบ่งตลาดในโลกมากถึงร้อยละ ๖๐ เส้นด้ายยาง (Rubber thread) เพื่อใช้ในอุตสาหกรรม และท่อสายยางที่ใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลกในสินค้าจากยางพารราอีกหลายรายการ เช่น อุปกรณ์กีฬา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ชิ้นส่วนในรถยนต์
 
การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยางภายในประเทศของมาเลเซียมีความสำคัญหลายประการ ที่สำคัญคือ
 
ประการแรก การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปเป็นการสร้างดีมานด์ผลผลิตยางพาราภายในประเทศขึ้นมา ทำให้มาเลเซียอยู่ในฐานะที่พอจะควบคุมความสมดุลของดีมานด์ซัพพลายได้เองค่อนข้างมาก ไม่ต้องฝากชีวิตทั้งหมดไว้กับโลกภายนอกหรือตลาดต่างประเทศมาก เหมือนกับที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้
 
ประการที่สอง การที่มาเลเซียนำผลผลิตยางมาแปรรูปนั้น เป็นการเพิ่มมูลค่า (value added) ให้กับสินค้าเกษตรของตน กล่าวคือ แทนที่จะขายยางแผ่นหรือยางแท่งในราคาเพียงกิโลกรัมละ ๔๐ กว่าบาท (ประมาณ ๕ ริงกิต) มาเลเซียนำผลผลิตยางไปแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ แล้วส่งออกขายต่างประเทศในราคาที่สูงกว่ายางดิบ ๑๐ – ๑๕ เท่าได้
 
ประการที่สาม เป็นการขยายวงของซัพพลายเชน (supply chain) สร้างงาน สร้างรายได้ (ที่ดีให้กับแรงงานของตน)และยกระดับการพัฒนาประเทศไปในตัว
 
มาเลเซียทำอย่างไรในการสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราภายในประเทศ
 
แน่นอนว่ามาเลเซียต้องทำงานหลายอย่าง เพื่อเตรียมพื้นฐานก่อนที่มาเลเซียจะมาถึงจุดนี้ได้ แต่เรื่องที่สำคัญที่สุดในบรรดาการดำเนินการทั้งหมดน่าจะมีด้วยกัน ๓ ประการ ได้แก่
 
ประการแรก การทุ่มเทให้กับการศึกษาวิจัยและการสร้างนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมที่มาเลเซียเรียกว่า “ปลายน้ำ” (Downstream) หรือการสร้างผลิตภัณฑ์จากยางพารา ซึ่งตรงนี้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับแนวทางการวิจัยของไทย ซึ่งเน้นสิ่งที่เรียกว่า “ต้นน้ำ” (Upstream)” คือ การวิจัยเพื่อเพิ่มผลผลิตในการเพาะปลูก
 
ประการที่สอง การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศอย่างจริงจังในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา มาเลเซียเชิญชวนบริษัทจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศของตน บางครั้งทำในลักษณะ “head hunting” คือ มุ่งเฉพาะเจาะจงที่จะไปชักชวนบริษัทนั้นบริษัทนี้เข้าไปในมาเลเซีย หรือบางครั้งถึงกับเข้าซื้อกิจการของต่างประเทศเข้ามาเป็นของมาเลเซียเอง เช่น กรณีการซื้อบริษัท Sime Derby ของอังกฤษมาเป็นของมาเลเซีย
 
ประการที่สาม การจัดตั้งหน่วยงานคือ The Malaysia Rubber Board ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลกิจการยางพาราของประเทศโดยภาพรวม ทำหน้าที่กำกับดูแล เสนอแนะยุทธศาสตร์ และขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยางพาราทั้งหมด ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และบริหารแบบกึ่งเอกชน
 
เรื่องที่น่าชื่นชมและถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากใน “The Malaysia Model” ก็คือ การทำการศึกษาวิจัย มาเลเซียทำงานวิจัยด้านยางพารามาราว ๗๐ ปีแล้วและได้เพิ่มความเข้มข้นขึ้นตั้งแต่กลางทศวรรษที่ ๑๙๘๐ คือ ในยุคของนายกรัฐมนตรี ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ปัจจุบันศูนย์วิจัยด้านยางพาราของมาเลเซียได้ชื่อว่าเป็นศูนย์วิจัยด้านยางพาราที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะการวิจัยด้าน “ปลายน้ำ” ขณะที่อังกฤษ สหรัฐฯ หรือประเทศอื่น ๆ ยุติงานวิจัยด้านยางพาราไปเกือบหมดแล้ว มาเลเซียยังทำงานวิจัยเรื่องนี้อย่างเข้มข้น
 
ศูนย์วิจัยแห่งนี้ ซึ่งเหมือนกับ “Silicon Valley” เล็ก ๆ ด้านยางพารา มีเจ้าหน้าที่ทำงานอยู่ ๑,๔๐๐ คน โดยเฉพาะแผนก “Downstream” มีนักวิทยาศาสตร์ทำงานอยู่ประมาณ ๑๖๐ คน แทบทุกคนจบปริญญาเอกในสาขาที่เกี่ยวข้องกับยางพารา ศูนย์วิจัยนี้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำและภาคเอกชนของมาเลเซีย มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การทำวิจัยร่วม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ระหว่างกัน
 
ศูนย์วิจัยแห่งนี้ยังทำงานร่วมกับศูนย์วิจัย Tun Abdul Razak Research Center ที่มาเลเซียจัดตั้งขึ้นในอังกฤษ เพื่อทำวิจัยด้าน “ปลายน้ำ” สำหรับตลาดในยุโรปด้วย
 
ในแง่ของประเทศไทย การตั้งศูนย์วิจัยด้าน “ปลายน้ำ” แบบมาเลเซียคงเป็นเรื่องไม่ “ทันกิน” เพราะต้องใช้เวลาและการลงทุนมากกว่าจะเห็นมรรคผล แต่ก็เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำ เพราะเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้อุตสาหกรรมยางพาราไทยยั่งยืนในระยะยาว
 
แต่เรื่องที่พอจะ “ทันกิน” สำหรับประเทศไทย ควรที่ประเทศไทยจะเร่งลงมือดำเนินการและควรถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล ก็คือ การส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา โดยเร่งโครงการ Rubber City การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น การกำหนดสิ่งจูงใจสูงสุด การรณรงค์เชิญชวนต่างประเทศเข้ามา โดยอาจจะต้องทำ “head hunting” เช่นเดียวกับมาเลเซีย
 
หัวใจของเรื่องก็คือ การสร้างดีมานด์ภายในประเทศ การสร้างอุตสาหกรรมแปรรูปยางขึ้นมา ไม่เอาชีวิตของชาวสวนยางไทยไปฝากไว้กับต่างประเทศอีกต่อไป ขอชีวิตบางส่วนกลับมาอยู่ในมือของคนไทยและประเทศไทยเอง
 
บทความโดย:
ดำรง ใคร่ครวญ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย