ฉบับที่ 5/2568 - แนวโน้มการตลาดออนไลน์ของไทย: โอกาสสำหรับนักศึกษาไทยในมาเลเซีย

ฉบับที่ 5/2568 - แนวโน้มการตลาดออนไลน์ของไทย: โอกาสสำหรับนักศึกษาไทยในมาเลเซีย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 พ.ค. 2568

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 6 พ.ค. 2568

| 50 view

2-2568_แนวโน้มตลาดออนไลน์ไทย

ในโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน การตลาดออนไลน์ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือขององค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ได้กลายเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ผู้ประกอบการรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงตลาดใหม่ ๆ และสร้างการเติบโตทางธุรกิจในต้นทุนที่ต่ำลง ขณะที่น้อง ๆ นักศึกษาไทยในมาเลเซียหลายคนสนใจกลับไปต่อยอดธุรกิจครอบครัวที่ชุมชนบ้านเกิดเมื่อสำเร็จการศึกษา และอีกจำนวนมากกำลังมองหาช่องทางผลักดันสินค้าและบริการท้องถิ่นไปสู่ตลาดระดับประเทศ ศูนย์นักศึกษาไทยในมาเลเซียจึงขอชวนน้อง ๆ มาศึกษาแนวโน้มการตลาดออนไลน์ของไทยในปัจจุบันและแนวทางการคว้าโอกาสเพื่อนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจบ้านเกิดและชุมชนของตนเองในประเทศไทย
ให้ก้าวทันโลก

1. E-Commerce: ประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโตของ E-Commerce ที่รวดเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในเมืองรองและชนบทที่เริ่มเข้าถึงแพลตฟอร์มอย่าง Shopee, Lazada และ TikTok Shop ได้อย่างแพร่หลายโดย Krungthai COMPASS ในเครือธนาคารกรุงไทยรายงานว่า E-Commerce ของไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจาก 3.19 แสนล้านบาทในปี 2563 มาอยู่ที่ 6.94 แสนล้านบาทในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องไปสู่ระดับ 7.47 แสนล้านบาทในปี 2568
แนวทางการคว้าโอกาส: ศึกษาขั้นตอนการตั้งร้านค้าออนไลน์ ระบบโลจิสติกส์ การใช้ Search Engine Optimisation (SEO) และการทำแคมเปญบน E-Commerce

2. Social Commerce: การทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ Facebook TikTok และ Instagram กำลังกลายเป็นช่องทางหลักของผู้ประกอบการรายย่อยในไทย เนื่องจากสามารถใช้งานง่าย ต้นทุนต่ำ และช่วยให้แบรนด์ท้องถิ่นสามารถเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรง โดยแต่ละแพลตฟอร์มมีลักษณะเฉพาะที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน อาทิ
- Facebook: เหมาะสำหรับกลุ่มวัยกลางคนขึ้นไป ใช้ในการแชร์เรื่องราวและ Live สดขายของ
- Instagram: เน้นภาพสวย มีสไตล์ เหมาะกับสินค้าแฟชั่น อาหาร และผลิตภัณฑ์ handmade
- TikTok: เหมาะสำหรับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน ชอบวิดีโอสั้น สนุก และเข้าถึงได้ง่าย
แนวทางการคว้าโอกาส: พัฒนาทักษะด้านการผลิตและตัดต่อวิดีโอ โดยเฉพาะวิดีโอเบื้องหลังการผลิตและการรีวิวสินค้า ควบคู่กับการสร้างกลยุทธ์การเล่าเรื่อง (storytelling) และคอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ อาทิ ประวัติศาสตร์ของชุมชนและวิถีชีวิตบ้านเกิด

3. การใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการวิเคราะห์ตลาด: ธุรกิจไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคในการวิเคราะห์แนวโน้มตลาด วางแผน และปรับแผนกลยุทธ์/ รูปแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น ปัจจุบันแพลตฟอร์ม E-Commerce และ Social Commerce มีเครื่องมือ AI ให้ผู้ขายใช้บริการที่หลากหลาย
แนวทางการคว้าโอกาส: ศึกษาวัตถุประสงค์และขั้นตอนการใช้งานเครื่องมือ AI ของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ อาทิ กลุ่มเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค (Meta Insights และ Google Analytics) เครื่องมือวิเคราะห์แนวโน้มตลาด (Google Trends และ Exploding Topics) และเครื่องมือสร้างเนื้อหาอัตโนมัติ (ChatGPT Canva AI และ Jasper.ai) เป็นต้น

4. Micro-Influencer Marketing: ผลสำรวจพบว่า ผู้บริโภคสินค้าออนไลน์ของไทยราวร้อยละ 76 จะเลือกซื้อสินค้าและบริการตามคำแนะนำของอินฟลูเอนเซอร์ เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อความคิดและการตัดสินใจของผู้บริโภคผ่านการแนะนำหรือรีวิวสินค้าที่สอดคล้องกับความเชี่ยวชาญ ทำให้มีความน่าเชื่อถือและน่าสนใจมากกว่าการตลาดแบบเดิมที่ไม่เสียเงินโฆษณา (การตลาดออร์แกนิค) หรือการตลาดที่เสียเงินโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
แนวทางการคว้าโอกาส: ทำความรู้จักกับไมโคร-อินฟลูเอนเซอร์ (Micro-Influencers) หรือกลุ่มคนทั่วไปที่ชื่นชอบการรีวิวสินค้าหรือบล็อกเกอร์ที่ผลิตคอนเทนต์แนะนำสินค้า ซึ่งยังมีผู้ติดตามจำนวนไม่มาก (10,000 - 50,000 คน) หรือมีผู้ติดตามเฉพาะกลุ่ม โดยอาจเป็นครู นักเรียน หรือผู้นำชุมชนที่มีผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย เพื่อร่วมกันสร้างเนื้อหาส่งเสริมผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชน

เมื่อได้เรียนรู้แนวโน้มการตลาดออนไลน์ของไทยในปัจจุบันกันแล้ว น้อง ๆ นักศึกษาไทยในมาเลเซียจะมีศักยภาพอย่างมากในการเป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างความรู้ด้านดิจิทัลสมัยใหม่กับทรัพยากรในท้องถิ่น โดยเฉพาะการทำการตลาดออนไลน์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริการของชุมชนบ้านเกิดให้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ขยายตลาดได้กว้างขึ้น และช่วยสร้างรายได้หมุนเวียนกลับสู่บ้านเกิดอย่างยั่งยืน

สุดท้ายนี้ ศูนย์นักศึกษาไทยในมาเลเซียขอชวนน้อง ๆ ร่วมสร้าง “สะพานเชื่อม” ไปด้วยกันในโครงการเตรียมความพร้อมสู่วัยทำงาน ประจำปี 2568 (Training and Routing for International Career: TRIC 2025) ระหว่างวันที่ 10 - 11 พฤษภาคม 2568 ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ และโรงแรม Oakwood Hotel and Residence ซึ่งจะมีกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้พัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ทั้งการผลิตสื่อ การตัดต่อวิดีโอ รวมถึงการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นผู้ประกอบการชุมชนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต น้อง ๆ ที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถกรอกแบบฟอร์มนี้ https://forms.gle/fXL9W3GjTdtpiATL7 ได้เลยค่ะ แล้วพบกันนะคะ

* * * * * * * * * *

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:

https://krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_1955Research_Note_22_06_66.pdf

https://paymentscmi.com/insights/thailand-ecommerce-market-data-insights/

https://my.nzte.govt.nz/article/how-to-boost-your-digital-marketing-strategy-in-thailand

https://awisee.com/blog/influencer-marketing-in-thailand/

https://marketeeronline.co/archives/90923

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

เอกสารประกอบ

5_-_2568_แนวโน้มการตลาดออนไลน์ของไทย.pdf