วันที่นำเข้าข้อมูล 11 ก.พ. 2568
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 ก.พ. 2568
ทุก ๆ ปี ประเทศสมาชิกของสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน (Association of Southeast Asian Nations: ASEAN) จะหมุนเวียนดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนตามลำดับตัวอักษรของชื่อภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก (alphabetical) โดยประธานอาเซียนจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดวาระความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของภูมิภาค การจัดการประชุมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและกับประเทศคู่เจรจา ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์กับมิตรประเทศและหุ้นส่วนนอกภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง สันติภาพ และเสถียรภาพในภูมิภาค
สำหรับปี 2568 มาเลเซียรับหน้าที่ประธานอาเซียนต่อจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยจะดำรงตำแหน่งฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2568 ภายใต้แนวคิดหลัก (theme) “การมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” หรือ “Inclusivity and Sustainability” พร้อมทั้งได้เปิดตัวตราสัญลักษณ์ (logo) ทางการของการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียที่ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกชบา ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซีย ศูนย์นักศึกษาไทยในมาเลเซียขอชวนน้อง ๆ มาทำความรู้จักกับโลโก้การเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียกันค่ะ
โลโก้ที่สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Representation): โลโก้ได้รับแรงบันดาลใจจากดอกชบา (Hibiscus rosa-sinensis หรือ Bunga Raya) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำชาติของมาเลเซียและพบได้ทั่วไปในประเทศสมาชิกอาเซียน ถือเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และอัตลักษณ์ของภูมิภาค
โลโก้ที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วม (Symbolism of Inclusivity): ดอกชบา 5 กลีบที่โอบล้อมโลโก้อาเซียนสะท้อนถึงการมีส่วนร่วม ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมาเลเซียที่มุ่งเสริมสร้างภูมิภาคอาเซียนที่มีสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรือง
โลโก้แห่งความยั่งยืน (Symbolism of Sustainability): ดอกชบาสื่อถึงความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาค สะท้อนความมุ่งมั่นของอาเซียนสู่การเป็นภูมิภาคแห่งความยั่งยืน ขณะที่การหมุนเป็นวงกลมของกลีบดอกชบาล้อมรอบโลโก้อาเซียนแสดงถึงความร่วมมือของอาเซียนในการบรรลุความยั่งยืนในระยะยาว
โลโก้ที่สะท้อนหลัก MADANI ของมาเลเซีย (Narrative of Malaysia MADANI): ปลายกลีบชบาที่ชี้ไปทางขวาแสดงถึงบทบาทของมาเลเซียในฐานะประธานอาเซียนที่มุ่งขับเคลื่อนภูมิภาคไปข้างหน้า โดยมีละอองเกสรดอกชบา 6 อันที่สะท้อนถึงรากฐานของวิสัยทัศน์ของมาเลเซียในการขับเคลื่อนอาเซียนตามหลัก MADANI 6 ประการ ได้แก่ ความยั่งยืน (sustainability) ความเอื้ออาทรและการเห็นอกเห็นใจ (care and compassion) ความเคารพ (respect) นวัตกรรม (innovation) ความเจริญรุ่งเรือง (prosperity) และความเชื่อใจ (trust)
โลโก้ที่แสดงถึงความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality): โลโก้อาเซียนที่อยู่ตรงกลางแสดงถึงความเป็นแกนกลางของอาเซียน (ASEAN Centrality) ขณะที่สีของโลโก้ (น้ำเงิน แดง เหลือง และขาว) สะท้อนสีหลักของธงชาติประเทศสมาชิกอาเซียน
เมื่อน้อง ๆ ได้เรียนรู้ความหมายและแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบโลโก้ประธานอาเซียนปีนี้กันแล้ว อย่าลืมสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมและทำความเข้าใจภาพรวมพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของอาเซียนกันด้วยนะคะ โดยเฉพาะในปีนี้ที่ครบรอบ 10 ปี การก่อตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เกี่ยวกับอาเซียนและติดตามการเป็นประธานอาเซียนของมาเลเซียกันค่ะ
* * * * * * * * * *
แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://myasean2025.my/asean-logo/
https://www.itd.or.th/itd-data-center/68_16/
รูปภาพประกอบ
วันและเวลาทำการ (วันจันทร์ - วันศุกร์)
เวลา 09.00 - 13.00 น. และ 14.00 - 17.00 น.
บริการฝ่ายกงสุล (วันจันทร์ - วันศุกร์)
เวลา 09.30 - 12.30 น. และ 14.30 - 16.30 น.
วันหยุดราชการ (คลิก)