สถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบออนไลน์

สถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบออนไลน์

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 ต.ค. 2567

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 18 ต.ค. 2567

| 66 view

วันที่ 16 ตุลาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางสาวลดา ภู่มาศ เอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ พร้อมด้วยข้าราชการและเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และสำนักงานทีมประเทศไทย และผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย ได้แก่ นาย Heizrul bin Ali ตำแหน่ง Senior Principal Assistant Secretary และนางสาว Zairila binti Zainal ตำแหน่ง Principal Assistant Secretary จาก Strategic Planning and International Relations Division รวมกว่า 40 คน ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ในรูปแบบออนไลน์ ในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 และการประชุมวิชาการนานาชาติ เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ครั้งที่ 3 ณ สถานเอกอัครราชทูตฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุมฯ และพระราชทานพระราชดำรัส ทรงย้ำความสำคัญของการเสริมสร้างทักษะและเตรียมความพร้อมของนักเรียนเพื่อให้ทันกับพัฒนาการเทคโนโลยีในปัจจุบัน และให้ใช้เวทีการประชุมฯ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแบ่งปันแนวปฏิบัติด้านการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาความรู้และสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในชีวิตของนักเรียน โดย พล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นผู้กราบบังคมทูลถวายรายงาน ในโอกาสนี้ ได้ทรงรับฟังการนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 ปี 2566 และทรงดนตรีในบทเพลงที่ทรงประพันธ์ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมและสำเนียงภาษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค

การนำเสนอผลงานของครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 ปี 2566 จำนวน 11 ราย จาก 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติมอร์-เลสเต ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 Special Education - Inclusive Education for Visually Impaired กลุ่มที่ 2 English Language, Making Learning Fun and Interactive กลุ่มที่ 3 Mathematics - Integrating Math to Daily Live กลุ่มที่ 4 School Management กลุ่มที่ 5 Community Engagement - Imrpoving Quality of Lives

นาย Saifulnizan Che Ismail ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี รุ่นที่ 5 ชาวมาเลเซีย จากโรงเรียน SK Raja Bahar เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ได้นำเสนอในกลุ่มที่ 3 (Mathematics) กล่าวถึงประสบการณ์และการดำเนินงานในห้วง 1 ปีหลังจากได้รับพระราชทานรางวัลฯ อาทิ การริเริ่มโครงการการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริงจากการประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ การจัดหาอุปกรณ์เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้านดิจิทัลและหุ่นยนต์ การทำแผนการบูรณาการการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอน ส่งเสริมความสนใจด้าน STEM และดิจิทัล โดยในการประชุมฯ ครั้งนี้จะนำเสนอและแบ่งปันประสบการณ์การสอนในหัวข้อ Inquiry-based and Fun Learning in Mathematics และในหัวข้อ I’m possible

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์และมีผลงานดีเด่น ที่สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และติมอร์-เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยมูลนิธิฯ คัดเลือกครูรางวัลฯ ทุก ๆ 2 ปี ซึ่งปีนี้ครบรอบ 10 ปีนับตั้งแต่รางวัลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2558 มีผู้รับรางวัลแล้ว 55 ราย และในปี 2568 การพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีจะขยายครอบคลุมอีก 3 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน และมองโกเลีย ส่วนการประชุมวิชาการนานาชาติฯ จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี (สลับปี)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ